นักวิทยาศาสตร์เผยนับเวลาขึ้นปีใหม่ที่ตรงกับ การเคลื่อนไหวของโลกที่แท้จริง เราต้องเพิ่มเวลาไปอีก 1 วินาที หรือ 700 ปีต้องเพิ่ม 1 ชั่วโมง เตรียมลงมติชี้ขาดในปีหน้า
หลายคนคงไม่ทราบว่าในงานนับถอยหลังการต้อนรับปีใหม่ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ที่ถูกต้องแล้วนาทีสุดท้ายของปี 2551 จะต้องมี 61 วินาที ไม่ใช่ 60 วินาทีอย่างที่เข้าใจกัน การขยายนาทีสุดท้ายของปีออกไป 1 วินาที ก็เพื่อทำให้เวลาของนาฬิกาถูกต้อง ตรงตามตำแหน่งของโลกเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ แต่แม้วินาทีส่วนเกินจะผ่านไปโดยไม่มีใครสังเกตุ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องการกำหนดเวลาของโลก
สิ่งที่กำหนดเวลาที่ถูกต้องของโลก เมื่อเทียบกับตำแหน่งของโลกและดวงอาทิตย์คือเวลาปรมาณูสากล หรือ International Atomic Time หรือ TAI ที่วัดจากการแกว่งตัวของอะตอม
แต่เพราะการหมุนของโลกนั้นมีการช้าลง เล็กน้อย ทำให้นับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา ต้องมีการเพิ่มวินาทีส่วนเกินเข้าไปในเวลาปรมาณู เพื่อให้มันสอดคล้องกับการเคลื่อนที่โลกอย่างถูกต้อง
การเพิ่มวินาทีส่วนเกินเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก จนเรียกได้ว่าต้องเพิ่มวินาทีส่วนเกินกันแทบทุกปี วินาทีส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นมาทำให้ดาวเทียม และนักฟิสิกส์ได้รับประโยชน์จากความถูกต้องของเวลา แต่ก็มีบางฝ่ายออกมาคัดค้านเช่นกัน โดยมองกันว่าการปรับเปลี่ยนเวลา อาจทำให้ซอฟต์แวร์ที่อ่อนไหวต่อเรื่องเวลาทำงานผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นระบบนำร่องด้วยดาวเทียมไปจนถึงการสื่อสารมือถือ
เรื่องนี้นำไปสู่การเสนอแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหาคือ การเพิ่มชั่วโมงส่วนเกินในทุกๆ ประมาณ 700 ปี แทนที่การเพิ่มวินาทีส่วนเกินกันทุกๆ ปี ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลงมติในเรื่องนี้ในปีหน้าเป็นอย่างเร็วที่สุด ซึ่งสหรัฐ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นต่างก็สนับสนุนข้อเสนอใหม่นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น