วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

ทำไมเด็กไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ



คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ
เด็กไทยชอบเกมคอมพิวเตอร์มากกว่าหนังสือคนไทยไม่รักการอ่าน
นี่คือ ๒ ปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของเรา

มันเกิดจากอะไร และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร
นี่คือสิ่งที่หลายๆ องค์กร ทั้งของรัฐและเอกชนต่างพยายามช่วยกันแก้ไขมากว่า ๑๐ ปีแล้ว แต่ทุกอย่างก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก ยิ่งเมื่อไปเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่แข่งของเราในการทำมาหากินอยู่ในทุกวันนี้ และประเทศที่คาดว่าอาจจะเป็นคู่แข่งของเราในอนาคต สิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จของเราก็ดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลยิ่งนัก ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำก่อนที่จะเดินหน้าทุ่มเทเพื่อการแก้ปัญหาต่อไปก็คือการทบทวนปัญหาและสถานการณ์ของปัญหาใหม่โดยละเอียด ทบทวนยุทธศาสตร์และวิธีการที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันว่ายังสอดคล้องกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ และสามารถที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

ทำไมเด็กไทย และคนไทยจึงไม่ชอบอ่านหนังสือ
เดิมเรามองว่าการที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่อ่านหนังสือ เป็นเพราะเขามองไม่เห็นความสำคัญ มองไม่เห็นประโยชน์ของการอ่าน ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องทั้งหมด จริงๆ แล้วทุกคนรู้ถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือ เห็นได้จากพ่อแม่พยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกที่ยังเป็นนักเรียน ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่อ่านหนังสือ ท่องตำหรับตำรา เพื่อที่จะสามารถสอบได้คะแนนดีๆ จบมาจะได้มีโอกาสหางานดีๆ ทำได้ ซึ่งหากวิเคราะห์ตรงนี้ให้ดี มันน่าจะหมายความว่า การอ่านสำหรับผู้ใหญ่ หรือคนที่เป็นพ่อแม่แล้ว มันมีความหมายเพียงแค่เครื่องมือชนิดหนึ่งในการเรียนหนังสือให้ได้ดีเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเรียนจบแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอ่านหนังสืออีกต่อไป เหตุผลที่ช่วยสนับสนุนตรงนี้ก็คือ เมื่อเรียนจบและได้ทำงานแล้วคนไทยส่วนใหญ่ก็มักจะไม่อ่านหนังสืออีก หรืออ่านก็เพียงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเท่านั้น
สภาพการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาในบ้านเรายังไม่สามารถทำให้ผลผลิตของการศึกษากลายเป็นผลผลิตที่มองเห็นความจำเป็นของการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การอ่านและการเรียนรู้เป็นเพียงบันไดเพื่อการได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา เพื่อเป็นใบเบิกทางในการก้าวเข้าไปสู่การมีงานทำ
เมื่อผู้ใหญ่ในปัจจุบันไม่เห็นความจำเป็นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็จะไม่มีการเรียนรู้ต่อเนื่อง พฤติกรรมที่ปรากฏชัดแก่สายตาของเด็กรุ่นหลังๆ ก็คือการไม่อ่าน ซึ่งเด็กก็จะเกิดการซึมซับ และลอกเลียนเอาพฤติกรรมเหล่านี้ไปเป็นพฤติกรรมของตัวเอง แม้ผู้ใหญ่จะพร่ำบ่นถึงความสำคัญของการอ่านมากเพียงใด มันก็ไม่สามารถที่จะทำให้เด็กหันมาให้ความสำคัญกับการอ่าน และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้ เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่แสดงออกมานั้นมันสื่อเป็นนัยว่า “ไม่ต้องอ่านก็ได้ เพราะผู้ใหญ่ก็ยังไม่อ่านเลย”

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
ในทางจิตวิทยาเราพบว่า หากสิ่งที่ผู้ใหญ่สอนและสิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติมีความขัดแย้งกัน เด็กจะทำตามในสิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการค้นพบใหม่ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ นั่นคือการค้นพบเซลล์กระจกเงาในสมองของมนุษย์ การค้นพบนี้ทำให้เรารู้ว่า วิธีเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์คือการเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบพฤติกรรมทางสังคม ทักษะทางสังคม ทักษะทางภาษา ทักษะทางอาชีพ หรือแม้แต่ทักษะในการดำรงชีวิตประจำวันวัน เราต่างเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบทั้งสิ้น
การอ่านและการเรียนรู้คือพฤติกรรมหรือทักษะ ที่เป็นทั้งพฤติกรรมส่วนบุคคล และพฤติกรรมของสังคม ย่อมต้องเรียนรู้ผ่านการมีแบบอย่างให้เห็น ในเมื่อผู้ใหญ่ก็ไม่อ่านไม่เรียนรู้เสียแล้ว จะพร่ำบ่นพร่ำสอนอย่างไร มันก็จะไม่สามารถก่อให้บังเกิดผลใดๆ ขึ้นมา
เรื่องนี้คือปมที่สำคัญที่สุดของการส่งเสริมการอ่านในบ้านเรา เราช่วยกันรณรงค์ให้พ่อแม่เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังแบเบาะมาหลายปีแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น แถมงานวิจัยบางชิ้นยังพบว่า แม้เด็กจะชอบการอ่านหนังสือตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็กเล็ก แต่พอโตขึ้นเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น เด็กกลับอ่านหนังสือน้อยลง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เราไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กๆ ของเรา
ดังนั้นการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยการส่งเสริมให้พ่อแม่เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ การส่งเสริมให้วัยรุ่นรักการอ่าน โดยการสร้างห้องสมุดที่ดึงดูดความสนใจหรือที่เราพยายามเรียกว่า “ห้องสมุดมีชีวิต” จึงไม่น่าจะพอเพียงสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านให้สัมฤทธ์ผลได้ การโน้มน้าวผู้ใหญ่ทุกคนให้หันมาอ่านหนังสือ หันมาเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้กับตนเองอยู่ตลอด ทำให้การอ่านหนังสือกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้ ทำให้การเรียนรู้คือสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต อยู่อย่างมีความสุขของทุกคนในสังคม วัตรปฏิบัติเช่นนี้จะกลายเป็นต้นแบบให้เด็กได้ลอกเลียน และเมื่อรวมกับวิธีการอื่นๆ ที่ได้ลงมือทำไปแล้ว ก็น่าที่จะทำให้สถานการณ์ของการแก้ไขปัญหาดีขึ้น

แรงดึงดูดของสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
คนญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นนักอ่านระดับต้นๆ ของโลก โดยดูได้จากการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ บนรถไฟ รถประจำทางในญี่ปุ่น ภาพคนนั่ง ยืนอ่านหนังสือเป็นภาพที่เราพบเห็นจนชินตา แต่ไม่กี่ปีมานี้เองรัฐบาล และเอกชนญี่ปุ่นต้องเร่งรณรงค์ส่งเสริมการอ่านอย่างขนานใหญ่ เพราะเขาพบว่าเด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่อ่านหนังสือน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก สาเหตุเนื่องมาจากเกมคอมพิวเตอร์และ อินเตอร์เน็ตได้เข้ามาดึงดูดความสนใจ และเวลาของพวกเขาไปจากหนังสือ
สำหรับประเทศไทย อัตราการอ่านหนังสือของเราต่ำกว่าของญี่ปุ่นอยู่มาก แต่อิทธิพลของเกมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตนั้นไม่แตกต่างกัน เผลอๆ อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเราหลงไปเข้าใจผิดว่า เกมคอมพิวเตอร์คือเครื่องมือพัฒนามนุษย์ที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียใดๆ เราจึงส่งเสริมให้เด็กๆ ของเราเล่นเกมเหล่านี้โดยปราศจากการควบคุม สุดท้ายปัญหาเด็กติดเกมเลยกลายเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับบ้านเรา แน่นอนสิ่งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็กของเรา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการอ่าน และการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้น เราต้องพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบเหล่านี้ด้วย
การกระจายหนังสือสู่ผู้อ่าน
ได้กล่าวไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าการอ่านหนังสือไม่มีความจำเป็นต่อชีวิต และยิ่งมาเจอกับสภาพที่ไม่มีหนังสือให้อ่าน ไม่มีห้องสมุด ไม่มีร้านหนังสือที่สามารถซื้อหาหนังสือมาอ่านได้ด้วยราคาที่ไม่เป็นภาระมากนัก ก็ยิ่งทำให้อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยยิ่งน้อยลง
มีคนพูดว่าในบ้านเราถ้าหากจะหาซื้อเหล้าเบียร์มาดื่ม ซื้อบุหรี่มาสูบนั้น สามารถทำได้ง่ายกว่าการหาหนังสือพิมพ์สักฉบับมาอ่าน นี่คือความจริงที่เราต้องยอมรับ ร้านขายหนังสือในบ้านเราจะมีก็เพียงในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดเท่านั้น ซึ่งหากนับรวมกันทั้งประเทศแล้วก็ไม่น่าจะเกิน ๑,๕๐๐ แห่ง เมื่อมาเปรียบเทียบกับคนจำนวน ๖๕ ล้านคนแล้ว ถือว่าน้อยมาก ลองคิดดูเล่นๆ ว่าหากมีใครสักคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งห่างจากตัวอำเภอเพียงแค่ ๒๐ กิโลเมตร วันดีคืนดีเขาอยากอ่านหนังสือสักเล่ม หรือหนังสือพิมพ์สักฉบับขึ้นมา สิ่งที่เขาจะต้องทำก็คือการหาทางเดินทางเข้าไปในอำเภอ จะด้วยพาหนะส่วนตัวหรือรถประจำทางก็ตามที เพื่อไปห้องสมุดหรือร้านขายหนังสือ เขาจำเป็นจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมงเพื่อการนี้ และก็จะเกิดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา เพียงแค่คิดก็คงพอจะได้คำตอบแล้วว่า เขายังอยากที่จะอ่านหนังสืออยู่อีกหรือไม่ ความไม่สะดวกในการเข้าถึงหนังสือและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นอุปสรรคอีกอันหนึ่งที่ขวางกั้นการรักการอ่านของผู้คนในสังคมไทย
รัฐบาลพยายามที่จะสร้างโอกาสในการเข้าถึงหนังสือของคนไทยให้มากขึ้น ด้วยการสร้างห้องสมุดประชาชนให้กระจายไปตามชุมชนหรือท้องถิ่นต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะห้องสมุดที่มีอยู่ก็มีเพียงแค่ในระดับอำเภอ ซึ่งปัญหาก็ไม่ต่างจากการกระจายตัวของร้านหนังสือ คือไกลเสียจนคนไม่อยากเดินทางมาใช้บริการ การสร้างที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านตามนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน ก็สามารถสนับสนุนได้เพียงหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร และสิ่งพิมพ์เผยแพร่งานของทางราชการเพียงไม่กี่รายการ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้ประชาชนเกิดความสนใจใคร่ที่จะอ่าน หรือค้นคว้าหาความรู้ให้กับตนเอง
ในส่วนขององค์กรท้องถิ่นที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทแทนที่กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ก็ยังไม่สามารถพัฒนาตนเองไปสู่บทบาทของการสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เกิดความรูสึกรักการอ่าน หรือสนับสนุนให้เกิดแหล่งค้นคว้าหาความรู้ในท้องถิ่นได้ ส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป เพราะยังให้ความสำคัญอยู่กับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และโครงสรางพื้นฐานกันอยู่

หนังสือดียังมีไม่เพียงพอ
ท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวของผู้เขียนนวนิยายเรื่อง แฮรี่ พอร์ตเตอร์ หนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกกันมาบ้างแล้ว จากคนฐานะธรรมดาๆ แถมออกจะจนด้วยซ้ำไปคนหนึ่ง แต่ด้วยหนังสือเพียงเล่มเดียวก็สามารถทำให้เธอกลายเป็นเศรษฐีในเวลาไม่กี่ปี เธอเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ ด้วยความสนุกสนานของหนังสือเล่มนี้ทำให้มันถูกนำไปแปลเป็นอีกไม่รู้กี่ภาษาเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก รายได้กลับมาสู่เธอเป็นกอบเป็นกำ ทำให้เธอไม่ต้องพะวงกับเรื่องการทำมาหากิน เธอสามารถทุ่มเทเวลาให้กับการค้นคว้าและสร้างผลงานต่อเนื่องได้อย่างเต็มที่ หนังสือเล่มต่อเนื่องของ แฮรี่ พอร์ตเตอร์ จึงปรากฏสู่สายตาผู้อ่านเล่มแล้วเล่มเล่า และก็ขายดีเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดเธอก็กลายเป็นเศรษฐีมีอันดับของโลกไป
การที่หนังสือสักเล่มจะขายได้ดีนั้นไม่ใช่เพราะความบังเอิญ หากแต่เป็นจากคุณภาพของตัวหนังสือเอง นั่นก็หมายความว่าผู้เขียนจะต้องมีความรู้ที่ชัดแจ้ง มีจินตนาการ มีทักษะในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือความรู้ต่างๆ ออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างมีเสน่ห์ สิ่งเหล่านี้ต้องมีการฝึกฝน ค้นคว้า ซึ่งก็หมายความว่าต้องอาศัยเวลาในการทำงานนั่นเอง และการที่นักเขียนจะทำแบบนี้ได้นั้นรายได้จากการเขียนหนังสือก็จะต้องมากพอเพียงที่จะเลี้ยงตัวเขาเองในระหว่างการค้นคว้าข้อมูล และการเขียนหนังสือ ผู้เขียนหนังสือ แฮรี่ พอร์ตเตอร์ ใช้เวลาเป็นปีในการค้นคว้าเรียบเรียงและเขียนหนังสือแต่ละเล่ม โดยไม่ต้องพะวงกับการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองเลย รายได้จากการเขียนหนังสือเล่มก่อนๆ ทำให้เธออยู่ได้อย่างสบาย ดังนั้นหนังสือของเธอจึงมีคุณภาพ เมื่อมาอยู่ในตลาดสากลที่ใหญ่มากเพราะเป็นตลาดภาษาอังกฤษที่คนทั้งโลกใช้ ก็ยิ่งทำให้ผลตอบแทนยิ่งมากขึ้น
ซึ่งตรงกันข้ามอย่างยิ่งกับนักเขียนไทย หนังสือเรื่องหนึ่งหากขายได้เกินหนึ่งหมื่นเล่ม นักเขียนและสำนักพิมพ์ก็ดีใจกันจนแทบแย่แล้ว เพราะตลาดมันแคบ แถมคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสืออีกด้วย นักเขียนไทยจึงอยู่ในสภาพที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดตลอดเวลา โอกาสที่จะได้ค้นคว้าข้อมูลอย่างเต็มที่ โอกาสที่จะได้ทำงานอย่างพิถีพิถันเพื่อให้เกิดผลงานดีๆ จึงเป็นไปได้ยาก คำว่า “นักเขียนไส้แห้ง” จึงเป็นจริงอย่างยิ่งสำหรับวงการนักเขียนไทย คนที่ก้าวเข้ามาสู่อาชีพนักเขียนอย่างเต็มตัวจึงมีน้อย เพราะต่างก็กลัวโรคไส้แห้งกัน โอกาสที่เราจะมีหนังสือดีๆ ในหลากหลายมิติ หลากหลายสาระให้เลือกอ่านจึงเป็นไปได้น้อย

คนไม่ชอบอ่านหนังสือเพราะคิดว่ามันไม่จำเป็นสำหรับชีวิต ทำให้หนังสือขายได้น้อย ทำให้คนเขียนหนังสือ คนพิมพ์หนังสือ คนขายหนังสือไม่กล้าลงทุนทำหนังสือ ไม่มีกำลังใจที่จะสร้างผลงาน เพราะกลัวขายหนังสือไม่ได้ ทำให้ปริมาณและคุณภาพของหนังสือลดลง ต้นทุนของหนังสือเพิ่มขึ้น หนังสือมีราคาแพง คนไม่กล้าซื้ออ่าน นี่คือวัฏจักรที่หมุนเวียนอยู่อย่างไม่รู้จบสิ้นในสังคมไทย การจะแก้ปัญหานิสัยไม่ชอบอ่านหนังสือของคนไทยให้ได้ผล จึงจะต้องมองปัญหาเหล่านี้ให้ทะลุ มองอย่างเชื่อมโยงและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เราจึงจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้

ไม่มีความคิดเห็น: