ประเภทของเครื่องดื่มในท้องตลาด
เครื่องดื่มที่เราเห็นว่ามีหลากหลายชนิดในท้องตลาดนั้นมีการกำหนดความหมายและแบ่งประเภทโดย คณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมความปลอดภัยและกำหนดมาตรฐานด้านอาหารตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดยแบ่งเครื่องดื่มเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มี 4 ประเภทย่อย
น้ำผลไม้ เช่น น้ำผลไม้แท้ น้ำผลไม้ผสม น้ำหวานเข้มข้นผสมน้ำผลไม้
เครื่องดื่มอัดแก๊ส เช่น น้ำโซดา น้ำอัดลม
เครื่องดื่มกระตุ้นประสาท เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
น้ำนม เช่น นมสด นมผสมจากนมผง นมปรุงแต่งรส น้ำนมถั่วเหลือง
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 แบ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกเป็น 2 ประเภทย่อย
สุราแช่หรือเมรัย คือ ผลที่ได้จากการหมักส่า ให้เกิดสุราที่มีความเข้มข้น แอลกอฮอล์มากน้อยตามความต้องการโดยไม่เกิน 15 ดีกรี และไม่มีการกลั่น เช่น เบียร์ ไวน์ แชมเปญ หรือสุรากลั่นจากผลไม้ต่าง ๆ สุรากลั่น คือผลที่ได้จากการหมักส่าให้เกิดมีแอลกอฮอล์แล้วกลั่น และบางชนิดต้องเก็บไว้นานเพื่อให้มีคุณภาพดี อาจปรุงแต่ง ให้มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตามความต้องการ เช่น บรั่นดี วิสกี้ เหล้าขาว เชียงชุน เครื่องดื่มยอดนิยมกับผลกระทบต่อสุขภาพ
รายงานของสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่า ปัจจุบันนี้เด็กไทย 6 ใน 10 คนบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากนมหวาน รองลงไปจะเป็นขนมหวานและน้ำอัดลม ส่งผลให้เด็กไทยป่วยด้วยโรคฟันผุ โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ มากขึ้นเป็นประวัติการณ์
ต่อมาในวัยรุ่นและวัยทำงานพบว่า สุราแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าวันหยุดหรือเทศกาลใดๆก็มักจะมีการดื่มสุรา ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรไทยติดอันดับชาติที่ดื่มสุราสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยชายวัยทำงานอายุ 20-45 ปี ดื่มสุราสูงสุดถึงร้อยละ 75 ส่วนวัยรุ่นทั้งชายและหญิงต่างก็มีแนวโน้มการดื่มสุราสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าตกใจคือวัยรุ่นหญิงอายุ 11 ก็เริ่มดื่มสุรากันแล้ว
สถาบันวิจัยยาเสพติด ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่วัยรุ่นหญิงนิยมดื่ม ได้แก่ สุราต่างประเทศ สุราผสมผลไม้ หรือ ไวน์คูลเลอร์ เพราะเชื่อว่ามีแอลกอฮอล์น้อยดื่มแล้วไม่เมา ในต่างประเทศมีการวิจัยพฤติกรรมการบริโภคสุราผสมผลไม้ หรือ RTD (Ready To Drink) พบว่า เครื่องดื่มประเภทนี้เป็นประตูบานแรกที่เปิดให้เยาวชนกลายเป็นผู้เสพติดสุราในที่สุด
หากพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสุขภาพแล้ว ในส่วนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้นมีผลลบต่อสุขภาพชัดเจน แต่ในส่วนของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้น ผู้บริโภคอาจมีความรู้สึกว่า ผลกระทบต่อสุขภาพที่แฝงอยู่อาจยังไม่ชัดเจนเท่าไรนักจึงมองข้ามผลเสียไป ทั้งๆที่เมื่อศึกษาจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับส่วนประกอบในเครื่องดื่มแล้วจะพบว่า หากดื่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์บางประเภทในปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็สามารถส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วยได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ก่อนตัดใจเลือกซื้อเครื่องดื่มครั้งต่อไปกัน ลองตามไปสำรวจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเครื่องดื่มและผลกระทบต่อสุขภาพ...ดีไหมคะ ส่วนประกอบของเครื่องดื่ม น้ำรสผลไม้ให้แต่น้ำตาล
เครื่องดื่มยอดนิยมที่เด็กๆหรือแม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ชื่นชอบ เพราะมีรสอร่อยและรู้สึกเหมือนได้ดื่มน้ำผลไม้ หาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าน้ำผลไม้คั้นสดหลายเท่าตัวส่วนประกอบ
สารแต่งกลิ่น สี รส ปริมาณสารปรุงแต่งเหล่านี้ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็ไปสะสมที่ตับและร่างกายส่วนอื่น เพิ่มโอกาสให้เกิดความผิดปรกติของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งได้
น้ำตาล เมื่อคุ้นชินกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานเสียตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้เมื่อเติบโตขึ้นมาก็ต้องบริโภคในปริมาณที่มากขึ้นจนกลายเป็นอาการติดน้ำตาล บางรายอาจจะแสดงออกด้วยอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า กระสับกระส่าย เดี๋ยวอารมณ์ดีเดี๋ยวอารมณ์ร้าย สมาธิสั้น มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ไฮโปไกลซีเมียหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
มีอาการแพ้ที่ผิวหนัง ปรากฏเป็นผื่นคันหรือลมพิษขึ้นเป็นปื้นๆ ตามนิ้ว แขนขาชา
โรคในช่องปาก ฟันผุ
น้ำอัดลมซ่ากว่าที่คิด
เครื่องดื่ม ที่เดิมเคยครองสัดส่วนการตลาดของเครื่องดื่มยอดนิยมทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ด้วยรสซ่าและหวาน ที่ได้รับการโฆษณาว่า สร้างความสดชื่นและดับกระหายได้เป็นอย่างดีส่วนประกอบ
น้ำตาล ในน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ร้อยละ 10-15 ซึ่งนับว่าสูงมาก ลองเปรียบเทียบง่ายๆว่า ในน้ำอัดลม 1 กระป๋องขนาด 250 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลราว 3 ช้อนชา การดื่มเครื่องดื่มซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูงเช่นนี้เป็นประจำทำให้ตับอ่อนทำงานผิดพลาด ก่อให้เกิดโรคอื่นๆที่สัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน เป็นต้น
กรดคาร์บอนิก น้ำอัดลมยังมีการปรุงแต่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มอีก 2 ประการ ได้แก่ การเติมกรดปรุงแต่งรสในน้ำอัดลม ซึ่งมีค่า ph โดยประมาณเท่ากับ 3.4 ซึ่งค่าความเป็นกรดนี้สามารถกัดกร่อนฟันและกระดูกได้ ส่วนการอัดแก๊สที่เติมเข้าไปอีกนั้นช่วยให้เกิดความซ่าชวนดื่ม อาจทำให้ท้องอืดเพราะมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป เกิดอาการระคายแก่ผนังกระเพาะอาหาร เสี่ยงต่อการเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารในระยะยาว กระดูกและเคลือบฟันผุกร่อนเร็วกว่าปรกติ ด้วยเหตุนี้ทำให้น้ำอัดลมจึงเป็นเครื่องดื่มต้องห้ามในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและผู้ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร
สารปรุงแต่งรสและสารกันบูด สารเหล่านี้อาจตกค้างในร่างกายและสะสมในตับ ทำให้การทำงานของตับลดลง ไปสู่โรคเกี่ยวกับตับ เช่น มะเร็งตับ ได้
คาเฟอีน ส่วนประกอบในน้ำอัดลมประเภทน้ำสีดำที่สกัดได้จากเมล็ดโคคาจึงมีคาเฟอีนตามธรรมชาติอยู่ แม้กระนั้นก็ยังมีการเติมคาเฟอีนเพิ่มในกระบวนการผลิตซ้ำอีก ดังนั้นจึงมีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เด็กและสตรีมีครรภ์จึงไม่ควรดื่ม ส่วนน้ำอัดลมประเภทที่มีสีใส ประเภทแต่งสีแต่งกลิ่นเลียนแบบผลไม้ แม้ไม่มีคาเฟอีนผสมอยู่แต่ก็มีความหวานจัดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
ผลจากการดื่มน้ำอัดลมมีให้เห็นในภาพยนต์สารคดีเรื่อง Supersize Me อันโด่งดัง ซึ่งเรื่องจริงของ มอร์แกน สเปอร์ล๊อค ชายหนุ่มชาวอเมริกันผู้ทดลองกินอาหารฟาสต์ฟู้ดและดื่มน้ำอัดลมแก้วโตทุกมื้อติดต่อกัน เป็นเวลา 30 วัน
เมื่อครบกำหนดการทดลอง ปรากฏว่า น้ำหนักตัวของมอร์แกนเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 10 กิโลกรัม พุงโย้ กล้ามเนื้อเหี่ยว ร่างกายขาดสารอาหารจำเป็นประเภทวิตามิน เกลือแร่เกือบทุกตัว ตับและไตถูกทำลายไปมากกว่าครึ่ง และแพทย์ลงความเห็นว่า หากมอร์แกนไม่หยุดการทดลองเขาอาจช็อคและเสียชีวิตจากอาการไตวายได้เครื่องดื่มเกลือแร่ทำลายสุขภาพคุณแน่
เครื่องดื่มประเภทนี้ได้รับการโฆษณาว่า เหมาะกับผู้ที่ออกกำลังกายหรือสูญเสียเหงื่อมาก มีรสหวานและเค็มเล็กน้อย มีการปรุงแต่งรสด้วยสีและกลิ่นผลไม้ส่วนประกอบ
น้ำตาลและสารปรุงแต่งรส มีปริมาณไม่สูงมากเมื่อเทียบกับน้ำอัดลมและน้ำหวานรสผลไม้
เกลือแร่ต่างๆ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ไบคาร์บอนเนต จากส่วนประกอบดังกล่าวบวกกับเทคนิคในการโฆษณาทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เครื่องดื่มชนิดนี้เหมาะกับนักกีฬาและผู้ที่มีเหงื่อออกมาก
แต่ข้อเท็จจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบก็คือ เครื่องดื่มเกลือแร่ควรใช้กับผู้ที่เสียเหงื่อมากๆโดยผิดจากภาวะปรกติที่ร่างกายเคยชิน เช่น ในกรณีนักกีฬาที่เคยอยู่ในเขตหนาว เมื่อมาแข่งขันในแถบร้อน แล้วร่างกายปรับตัวไม่ทัน จะพบว่าเหงื่อออกมากขณะลงสนาม และอ่อนเพลียจากการสูญเสียเกลือแร่ได้ เป็นต้น แตถ้าเป็นการเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายตามปรกติ รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยา ให้คำแนะนำว่า การดื่มน้ำเปล่าเพื่อชดเชยเหงื่อที่เสียไปก็เพียงพอ และถ้ายิ่งเป็นนักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมทุกวันด้วยแล้ว ก็แทบจะไม่จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เสริมอีก เพราะร่างกายจะสามารถปรับตัวต่อการเสียเหงื่อเป็นประจำโดยไม่จำเป็นต้องให้เกลือแร่ชดเชยผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
หากร่างกายของเราได้รับเกลือแร่ต่างๆ จากอาหารเพียงพออยู่แล้ว การบริโภคเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีเกลือโซเดียมมากเกินไป อาจเป็นอันตรายโดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคไต ในกรณีของเด็กและทารกไม่ควรดื่ม เพราะอาจเกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายได้เครื่องดื่มชูกำลังให้คาเฟอีนมากเกิน เนื่องจากชื่อเดิมที่ให้ผลบวกด้านจิตวิทยาแก่ผู้บริโภคว่า ดื่มแล้วมีกำลัง สามารถทำงานต่อเนื่องได้โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย รัฐบาลได้คำนึงถึงช่องว่างดังกล่าวแล้วมองเห็นถึงผลกระทบของการบริโภคคาเฟอีนสังเคราะห์ซึ่งผสมอยู่เครื่องดื่มชนิดนี้ในปริมาณสูงจึงได้กำหนดให้เรียกชื่อเครื่องดื่มชูกำลังใหม่ว่าเป็น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนส่วนประกอบ
น้ำตาล ไวตามินต่างๆ ผู้ดื่มอาจรู้สึกสดชื่นนั้นเนื่องจากได้รับน้ำตาลเข้าไป ส่วนวิตามินและสารอื่นๆ เช่น สารกลูคูโรโนแลคโตน สารอันโนซีทอล สารเทาริน ที่ฉลากข้างขวดมักจะระบุว่า มีส่วนช่วยบำรุงตับ หัวใจนั้น ในความเป็นจริงยังไม่ปรากฏผลทางวิชาการมารับรองว่า ร่างกายจะได้รับประโยชน์จากการดื่มสารเหล่านั้นเข้าไปโดยตรง
คาเฟอีนสังเคราะห์ ในเครื่องดื่มประเภทนี้มีการเติมคาเฟอีนสังเคราะห์ซึ่งไม่ใช้คาเฟอีนธรรมชาติเหมือนที่พบในน้ำอัดลมหรือกาแฟ โดยปริมาณคาเฟอีนที่ผสมจะอยู่ที่ 50-100 มิลลิกรัม ต่อ ขวดบรรจุ 100 มิลลิลิตร ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
บุคคลทั่วไปไม่ควรบริโภคคาเฟอีนเกินวันละ 300 มิลลิกรัม ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากปริมาณคาเฟอีนที่ผสมอยู่จึงมีคำเตือนว่า ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อการทำงานของตับแล้ว ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กและทารกในครรภ์
ในส่วนของวิตามินที่อ้างว่าผสมในเครื่องดื่มประเภทนี้กว่า 10 ชนิดนั้น หากเรารับประทานผักผลไม้เพียงพอแล้ว ร่างกายก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสริมวิตามินหรือสารอาหารอื่นๆจากการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เข้าไปอีกเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์นำไปสู่การเสพติด
เครื่องดื่มกลุ่มนี้ถือเป็นก้าวแรกที่นำวัยรุ่น ไปสู่ถนนนักดื่มได้โดยง่าย เพราะมีรสหวานเนื่องจากมีการปรุงรส สี กลิ่น หรือผสมน้ำผลไม้ ทำให้ชวนดื่ม ไม่มีรสขมจัดอย่างเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในดีกรีสูงๆส่วนประกอบ
น้ำหวานรสผลไม้หรือน้ำผลไม้ ปริมาณน้ำตาลไม่สูงเท่าน้ำอัดลมและน้ำหวานรสผลไม้
แอลกอฮอล์ แม้จะมีประมาณแอลกอฮอล์ที่ดูเหมือนไม่มากนัก คือ เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6-9 แต่หากดื่มติดต่อกันตั้งแต่ 5 ขวด (ปริมาณบรรจุขวดละ 250 มิลลิลิตร) ขึ้นไปก็ทำให้มึนเมาได้ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย
ผลโดยตรงจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ไม่น่ากลัวเท่าผลทางอ้อมที่ชักจูงให้วัยรุ่นโดยเฉพาะวันรุ่นหญิงกล้าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ดีกรีสูงขึ้นต่อไปโดยง่าย รายงานจาก สถาบันวิจัยยาเสพติด ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การที่เด็กเริ่มต้นทำตัวเป็นนักดื่มตั้งแต่ก่อนอายุ 13 ปี มีโอกาสติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนโต ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 10 ปี ประมาณร้อยละ 4.7 ที่เริ่มดื่ม เมื่อเทียบอายุเฉลี่ยของคนไทยที่เริ่มดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 20.5 ปี จะเห็นว่าเร็วจนน่าตกใจมากเครื่องดื่มจำเป็นต่อร่างกายหรือไม่ หากเครื่องดื่มยอดนิยมมีผลลบต่อสุขภาพเช่นนี้แล้ว เราควรเลือกดื่มเครื่องประเภทใดแทน...
หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามหลักโภชนาการ นอกจากรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่แล้ว ร่างกายยังต้องการน้ำเฉลี่ยวันละ 2.5 ลิตรหรือราว 8 แก้ว เพื่อนำไปใช้ในระบบต่างๆของร่างกาย เช่น หล่อเลี้ยงเซลล์ ขับถ่าย ระบายความร้อน หากไม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ ร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระดับของโซเดียม โปแตสเซียม และคลอไรด์ ไม่สมดุล
เมื่อร่างกายประสบกับภาวะขาดน้ำ เราจะรู้สึกกระหายน้ำ ผิวหนังไม่มีความยืดหยุ่น ผิวแห้ง ปัสสาวะน้อยลง อารมณ์ฉุนเฉียว สับสน อาการเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลไกตามธรรมชาติของร่างกายที่จะแสดงออกมาเมื่อร่างกายไม่สามารถจัดสรรปันส่วนน้ำที่มีอยู่น้อยนิดให้เพียงพอต่อความต้องการของอวัยวะสำคัญ เสี่ยงที่จะเกิดอาการจุกเสียด แน่นหน้าอก ท้องอืด คลื่นไส้
เครื่องดื่มเสริมอื่นๆอาจมีความความจำเป็นในบางช่วงวัย เช่น วัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโตและผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน อาจมีการเสริมแคลเซี่ยมโดยให้ดื่มนมถั่วเหลืองเป็นประจำ หรือ ขณะที่บางโรคอาจต้องมีการเสริมปริมาณเครื่องดื่ม ยกตัวอย่างเช่น การดื่มน้ำเกลือแร่โออาร์เอสในผู้ป่วยโรคท้องร่วง การดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อช่วยในการขับถ่ายในกรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องผูก เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยา สรุปในตอนท้ายว่า สำหรับวิถีชีวิตของคนโดยทั่วไปแล้ว น้ำสะอาดที่ผ่านการต้มแล้วนับว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ในราคาประหยัด ถ้าหากสนใจจะหาซื้อเครื่องดื่มอื่นๆมาบริโภค ควรอ่านฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บริเวณด้านข้างของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจว่า เครื่องดื่มชนิดนั้นให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ก่อโรค และมีราคาคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่ภาวะใดบ้างที่เราควรดื่มน้ำให้มากขึ้น
สูญเสียเลือด ระหว่างวันเราควรดื่มน้ำมากที่สุด ราว ¾ - 1 แก้ว ในแต่ละครั้ง และให้บ่อยเท่าที่เป็นไปได้ น้ำปริมาณนี้ มีค่าเท่ากับ 130-180 มิลลิลิตร ในแต่ละครั้ง
เป็นไข้ เวลาเป็นไข้ควรจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อชดเชยปริมาณน้ำที่สูญเสียไปจากการระเหยออกทางผิวหนัง การที่น้ำระเหยออกไป จะช่วยลดความร้อนจากอาการไข้ ทำให้ร่างกายเย็นลง นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการเปลี่ยนสารอาหารเป็นพลังงานและโปรตีนในร่างกาย ลดการสร้างความร้อน และเพิ่มอัตราการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย
ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การดื่มน้ำมากๆ ระหว่างที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ จะช่วยเพิ่มการผลิตปัสสาวะ และล้างเอาเชื้อโรคออกไปได้เร็วขึ้น
เป็นโรคปวดตามข้อหรือกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีอาการเกี่ยวข้องกับการบวมของข้อต่อ กล้ามเนื้อ ผิวบริเวณข้อต่อ จะทำให้รู้สึกปวด ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำจะช่วยเจือจางเลือด และลดระดับกรดยูริก (ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการเปลี่ยนสารอาหารเป็นโปรตีน) ที่ปะปนอยู่ในเลือดให้ถูกขับออกไปพร้อมปัสสาวะประโยชน์ของเครื่องดื่มแบบชีวจิต
สำหรับชาวชีวจิตเองนั้นนอกจากการดื่มน้ำเปล่าที่ไม่แช่เย็นแล้ว ยังมีเครื่องดื่มที่เปรียบเสมือนตัวช่วยกระตุ้นการทำงานของภูมิชีวิต อย่าง น้ำอาร์ซี น้ำเอ็นไซม์ และน้ำชาสุขภาพ ด้วย คุณสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ได้แก่ ชีวจิต มะเร็งแห่งชีวิต รวมไปถึงข้อมูลในเวบไซต์นิตยสารชีวจิต ซึ่งจะระบุถึงประโยชน์และวิธีการทำไว้โดยละเอียดค่ะ
น้ำอาร์ซี ต้มจากข้าว 9 ชนิด มีข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เล่ย์ ลูกเดือย ลูกบัว ข้าวมันปู ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวกล้อง ข้าวโอ๊ต ซึ่งมีกลูโคส DNA และ RNA ช่วยแก้อ่อนเพลีย รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ควรดื่มเวลาเช้าและท้องว่าง หากเก็บใส่กระติกให้อุ่นอยู่เสมอสามารถนำมาดื่มได้ตลอดวัน แทนที่จะดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ลองดื่มน้ำอาร์ซี เสริมภูมิชีวิตกันดีกว่า
น้ำเอนไซม์ คั้นจากเครื่องคั้นแยกกากหรือกรองและคั้นด้วยผ้าขาวบาง ห้ามใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าเพราะจะทำให้เอนไซม์ตาย ใช้ผักและผลไม้มาคั้น เช่น แครอท เซเลอรี่ รากบัวหลวง มะระ กระเทียม แคนตาลูป ลูกใต้ใบ ช่วยเสริมการทำงานของระบบต่างในร่างกาย ฆ่าเชื้อโรค ล้างไขมัน ฟอกเลือด สมานแผลในกระเพาะอาหาร ควรดื่มวันละ 1 แก้วเวลาท้องว่าง งดดื่มน้ำหวานรสผลไม้ที่มีแต่น้ำตาลกับสารปรุงแต่งสีกลิ่นรส หันมาทำน้ำเอ็นไซม์ดื่มเองกันเถอะ
น้ำชาสุขภาพ ประโยชน์ขึ้นอยู่กับชนิดของสมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง เตยหอม เก็กฮวย รากบัว มะตูม ตะไคร้ ดอกคำฝอย โดยทั่วไปจะช่วยบำรุงสุขภาพ แก้จุกเสียด ช่วยเจริญอาหาร ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ เป็นต้น นำมาต้มใช้ดื่มได้ตลอดวัน เลือกดื่มชาสมุนไพรที่มีสรรพคุณเหมาะกับภาวะสุขภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ใช้เยียวยาหรือบำบัดอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้